Quantcast
Channel: Blognone - E-commerce
Viewing all 125 articles
Browse latest View live

อุดช่องโหว่! Amazon ผุดแผนทำเสื้อผ้าแฟชันขายเอง

$
0
0

ดูเหมือน Amazon จะใบ้มาล่วงหน้าแล้วว่ากำลังจะขยายธุรกิจอะไรเพิ่มเติม หลังจากในงานสัมมนาสินค้าแฟชัน และขายปลีก WWD Apparel and Retail CEO Summit มีผู้บริหารจาก Amazon อย่าง Jeff Yurcisin ขึ้นไปพูดถึงทิศทางการขายปลีกของ Amazon ในอนาคตว่าอาจทำไลน์สินค้าแฟชันของตัวเองมาขาย

เหตุผลที่ Amazon จะทำสินค้าแฟชันมาขายในแพลตฟอร์มของตัวเองนั้น Yurcisin บอกว่าเพื่อมากลบช่องโหว่ที่ไม่สามารถดึงบางแบรนด์เข้ามาขายใน Amazon ได้เนื่องจากส่วนแบ่งการขายที่น้อยเกินไป แต่ก็ยังมีความต้องการจากผู้ซื้อในสินค้ากลุ่มนั้นอยู่เรื่อยๆ

การทำไลน์สินค้าแฟชันขึ้นมาขายเอง นอกจากจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับ Amazon ได้แล้ว ยังสามารถช่วยเรื่องการต่อรองกับบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่ยังไม่ได้ขายกับ Amazon ได้ดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา - Fibre2Fashion

Amazon, E-commerce

Amazon ปิดบริการ Local Register เครื่องรับจ่ายเงินผ่านแท็บเล็ต

$
0
0

ปีที่แล้ว Amazon เปิดตัว Local Register เครื่องรับจ่ายเงินสำหรับธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกับ Square และ PayPal

อย่างไรก็ตาม หลังเวลาผ่านมาแค่ 1 ปี Amazon ประกาศปิดบริการตัวนี้แล้ว โดยลูกค้าเก่าจะสามารถใช้งานได้จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2016 ส่วนเงินที่ค้างในระบบจะโอนให้ลูกค้าภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2016 และลูกค้าสามารถดาวน์โหลดประวัติการรับเงินทั้งหมดมาเก็บไว้ได้

บริษัทไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมจึงปิดบริการ แต่บริษัทยังมีธุรกิจการจ่ายเงินออนไลน์ Pay with Amazon อยู่เช่นเดิม

ที่มา - Amazon Register, Fortune

Amazon, E-commerce, Payment

ไปอีกหนึ่งราย Amazon จะเลิกขายดีลในเดือนธันวาคมนี้

$
0
0

ธุรกิจขายดีลอยู่ในช่วงขาลงมานาน ล่าสุดเจ้าพ่อค้าปลีกออนไลน์อย่าง Amazon ก็จะเลิกขายดีลบ้างแล้ว

บริการขายดีลของ Amazon ใช้ชื่อว่า Amazon Localเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2011 ในสหรัฐอเมริกา และขยายไปสหราชอาณาจักรในปี 2012 ซึ่งช่วงนั้นธุรกิจขายดีลกำลังเป็นที่นิยม แต่ช่วงหลังก็เงียบๆ ลงไป

ล่าสุด Amazon ได้ประกาศเลิกขายดีลทั้งหมดในวันที่ 18 ธันวาคมนี้แล้ว โดยผู้ที่ซื้อดีลไปก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้สิทธิ์ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามปกติ และแอพ Amazon Local ก็จะถูกถอดออกจาก Apple App Store, Google Play Store และ Amazon Appstore ในวันเดียวกัน

ธุรกิจขายดีลนั้นร่อแร่มานาน เมื่อเดือนที่แล้ว LivingSocial ก็เพิ่งปลดพนักงานไป 200 คน ส่วน Groupon ก็ประกาศปลดพนักงานถึง 1,100 คนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับปิดกิจการใน 7 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ที่มา - TechCrunch

Amazon, E-commerce, Social Commerce

สถิติมีไว้ทำลาย อาลีบาบามียอดขายทะลุหนึ่งพันล้านดอลล่าร์ตั้งแต่ 8 นาทีแรกของการลดราคาวันคนโสดจีน

$
0
0

วันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปีในจีนแผ่นดินใหญ่จะเรียกวันนี้ว่าวันคนโสด(单身节/光棍节)ซึ่งหนุ่มสาวโสดจะออกไปฉลองวันนี้ด้วยการออกไปปาร์ตี้ ร้องคาราโอเกะและซื้อของเพื่อเป็นของขวัญให้แก่ตัวเอง ในวันนี้จึงเป็นวันที่ร้านค้าออนไลน์มักจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าออกมารองรับกำลังซื้อจำนวนมหาศาลนี้

อาลีบาบาเจ้าพ่อแห่งวงการซื้อขายออนไลน์ในจีนได้ประกาศว่าในวันเทศกาลคนโสดปีนี้บริษัทสามารถทำยอดขายมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐภายใน 8 นาทีแรกของการเริ่มต้นการลดราคาเทศกาลวันคนโสดซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลา 0:01 นาฬิกาของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่นประเทศจีน (เร็วกว่าประเทศไทยหนึ่งชั่วโมง) และเมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมงมูลค่ายอดขายสินค้าทั้งหมดของอาลีบาบาในเทศกาลวันคนโสดก็ทะยานไปกว่า 41.7 พันล้านหยวนหรือประมาณ 6.56 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

จากมูลค่ายอดซื้อที่สูงถล่มทลายในครั้งนี้จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อในตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในจีนนั้นได้แซงหน้าตลาดสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้วเพราะเมื่อเทียบกันกับเทศกาลลดราคาที่มีกำลังซื้อสูงสุดอย่าง Cyber Monday ที่มียอดซื้อจากอุปกรณ์เดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์มูลค่าสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในหนึ่งวัน ก็จะเห็นได้ว่าอาลีบาบาทำยอดในวันคนโสดจีนได้สูงกว่า และยอดขายดังกล่าวก็ยังมากกว่ายอดซื้อบนเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์ในช่วง 5 วันตั้งแต่เทศกาลขอบคุณพระเจ้าจนถึง Cyber Monday ในปีที่แล้วอีกด้วย

ที่มา - QUARTZ

Alibaba, China Single Day, E-commerce

ครบหนึ่งวัน Alibaba ทำยอดขายได้ 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบสองเท่าของยอดปีที่แล้ว

$
0
0

จากที่เมื่อวาน Alibaba เริ่มโปรโมชันลดราคาวันคนโสดจีนได้เพียง 8 นาที ก็ทำยอดขายไปได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ครบ 24 ชั่วโมงและหมดโปรโมชันแล้ว สามารถทำยอดขายเกินปีที่แล้วไปได้เกือบสองเท่า

Alibaba เปิดเผยว่าเพียง 24 ชั่วโมง ทำยอดขายได้ถึง 91,200 ล้านหยวน หรือ 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือแปลงเป็นเงินบาทได้ราว 512,000 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยในวันเดียวกันนี้ของปีที่แล้วทำยอดได้เพียง 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งสินค้าที่ขายดีได้แก่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็กทารก, อาหารเสริมต่างๆ, รองเท้า Nike และกางเกงยีนส์ Levi's

Jack Ma ประธานของ Alibaba กล่าวว่าการที่ยอดขายปีนี้สูงมาก เป็นผลมาจากการนำสินค้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศมาลดราคาร่วมด้วย รวมถึงมีการช่วยโปรโมทจากดาราฮอลลีวูดเช่น Daniel Craig และ Kevin Spacey

ในรอบปีนี้ เศรษฐกิจของจีนเติบโตช้าที่สุดในรอบ 25 ปี ซึ่งผลจากโปรโมชันเมื่อวานเพียงวันเดียว ได้เพิ่มยอดขายปลีกของประเทศถึง 11% เลยทีเดียว

ที่มา - Bloomberg

Alibaba, China Single Day, E-commerce

Shopify เปิดตัวแอพขายของ Sello ผู้ขายแค่ถ่ายรูปกับกำหนดราคา ที่เหลือแอพแชร์ให้เอง

$
0
0

Shopify เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ขายหรือเจ้าของกิจการมาเปิดร้านของตนเองได้ โดยผู้ขายจะมีหน้าร้านออนไลน์เป็นของตนเองอยู่บน Shopify เลย แต่ขณะนี้ Shopify ได้ก้าวไปอีกขั้นโดยการเปิดตัวแอพใหม่ชื่อ Sello ทำให้การขายง่ายมาก ผู้ใช้เพียงแค่ถ่ายรูปสินค้าที่จะขาย, กำหนดราคา และวิธีจัดส่ง จากนั้นแอพจะแชร์ไป social media ต่างๆ ให้เอง

เมื่อดาวน์โหลดแอพมาก็สามารถเริ่มขายได้ทันที ข้อดีของแอพนี้คือพยายามทำทุกอย่างให้เรียบง่าย ไม่มีพิธีอะไรให้สับสน ผู้ขายเพียงแค่ถ่ายรูปสินค้าหลายๆ รูป จากนั้นก็กำหนดราคาและวิธีจัดส่ง สุดท้ายก็เลือกช่องทางการชำระเงิน โดยแอพจะแชร์ "โพสต์ขาย"ของเราออกไป social media ต่างๆ มากมายตามที่เราเลือก เช่น Facebook, Twitter, Instagram, Pinterest, Tumblr และเครือข่ายอื่นอีก 7 อย่าง รวมถึงแอพใดๆ ที่รองรับการแชร์

เมื่อคนอื่นสนใจโพสต์ที่เราแชร์ ก็สามารถเปิดลิงค์ และพร้อมชำระเงินทันที ช่องทางการชำระเงินก็หลากหลาย เช่น PayPal, บัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งนัดเจอแล้วจ่ายเงินสด (ซึ่งหลายๆ แพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้จ่ายเงินสด)

เราสามารถกล่าวได้ว่า Sello เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบไม่มีตัวกลาง นั่นคือผู้ซื้อจะไม่สามารถมานั่งหาสินค้าที่ตนอยากได้ได้จาก Sello แต่จะซื้อได้ก็ต่อเมื่อเห็นโพสต์ที่แชร์มาจากผู้ขายเท่านั้น

Sello มีให้ทั้งบน Android และ iOS

ที่มา - VentureBeat

Shopify, E-commerce

อาการยังหนัก Groupon ปิดสาขาในยุโรปเพิ่มอีก 4 ประเทศ

$
0
0

เราเพิ่งเห็นข่าว Groupon ถอนตัวใน 7 ประเทศ (รวมไทย) และปลดพนักงาน 1,100 คนไปเมื่อเดือนกันยายน และสถานการณ์ของบริษัทยังไม่ดีขึ้น แถมเพิ่งเปลี่ยนตัวซีอีโอไปเมื่อต้นเดือนนี้

ล่าสุด Groupon ประกาศปิดสำนักงานในยุโรปตอนเหนืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ซึ่งสำนักงานบางส่วนมาจากการซื้อกิจการ CityDeals ของกลุ่ม Rocket Internet เมื่อปี 2010 ด้วย

โฆษกของบริษัทระบุว่าเลือกปิดบางสาขาที่ไม่ทำเงิน แต่บริษัทยังให้ความสำคัญกับตลาดนอกสหรัฐเช่นเดิม

ที่มา - TechCrunch

Groupon, E-commerce

AIS เปิดตัว mPAY Gateway ระบบรับชำระเงินสำหรับร้านค้าออนไลน์ ใช้ง่ายรับเงินได้ใน 1 วัน

$
0
0

AIS ยังคงเดินหน้าขยายบริการ mPAY อย่างต่อเนื่อง หลังจากเลิกจำกัดเฉพาะผู้ใช้ AIS ด้วยการเปิดให้ทุกคนสามารถใช้งาน mPAYได้ วันนี้ก็ขยับไปอีกก้าวด้วยการเปิดตัว mPAY Gateway สำหรับรองรับการชำระเงินสำหรับร้านค้าออนไลน์แล้ว

การเริ่มต้นใช้งาน mPAY Gateway ทำได้ง่ายๆ ด้วยการสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์หลักของ mPAY Gatewayซึ่งเมื่อกรอกชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่านก็จะสามารถใช้รับเงินผ่านบัญชีดังกล่าวได้ทันที ผ่านกระบวนการง่ายๆ เพียงใส่จำนวนเงินที่ผู้ซื้อต้องจ่าย ระบบจะสร้างลิงก์เพื่อให้ผู้ขายนำไปให้ผู้ซื้อชำระผ่านช่องทางใดๆ ก็ได้ รวมถึงมีระบบแจ้งเตือนการชำระเงินในตัว โดยผู้ขายจะได้รับเงินภายใน 1 วันทำการ ไม่มียอดขั้นต่ำในการรับเงิน

สำหรับฝั่งผู้ซื้อ ระบบ mPAY Gateway รองรับการชำระเงินทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต VISA, MasterCard และ JCB ผ่านการโอนเงินจากบัญชีธนาคารทั้ง 9 แห่ง ผ่านเครื่องรูดบัตรเครดิตสำหรับอุปกรณ์พกพา (mPOS) และ ผ่านช่องทางของ mPAY เองทั้ง mPAY Wallet (แอพมือถือ) และ mPAY STATION ของร้านในเครือ AIS และห้างชั้นนำทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่งด้วยกัน

บริการ mPAY Gateway ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกสิกรไทยที่เชื่อมระบบเข้ากับ K-Payment Gateway ทั้งนี้ก็เพื่อรับกับกระแสอีคอมเมิร์ซที่เติบโตมากกว่าปีละ 20% นั่นเอง

ที่มา - mPAY Gateway

AIS, E-commerce, Mobile Payment

ยอดขายของ Amazon คิดเป็น 36% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมดจากเทศกาล Black Friday

$
0
0

Slice Intelligence บริษัทเก็บข้อมูลด้านอีคอมเมิร์ซได้เปิดเผยว่าจากเทศกาลช็อปปิ้ง Black Friday ที่ผ่านมา ยอดขายเฉพาะของ Amazon คิดเป็น 36% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมดเลยทีเดียว โดยอันดับสองตามมาห่างๆ คือ Best Buy ที่ 8.23% และอันดับสามคือห้าง Macy's ที่ 3.38% ส่วนอันดับต่อๆ มาคือ Walmart ที่ 3.35% และ Nordstrom ที่ 3.11%

หลังเทศกาลจบลง Amazon ก็ได้โพสต์บนบล็อกของบริษัท โม้ว่าทำยอดขายได้ดีแค่ไหน เช่น Amazon Fire TV เป็นอุปกรณ์สตรีมมิ่งที่ขายดีอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ โดยขายดีขึ้นหกเท่า, แท็บเล็ต Amazon Fire ขายไปหลายล้านเครื่องแล้วตั้งแต่เปิดตัวมา และยอดขายพุ่งขึ้นสามเท่าจากเทศกาลนี้, ผู้ช่วยส่วนตัว Amazon Echo ทำยอดขายอันดับหนึ่งในช่วงเทศกาล ฯลฯ

บริษัทอื่นๆ ในโลกการซื้อขายออนไลน์ก็ทำสถิติได้ดีไม่แพ้กัน เช่น eBay บอกว่ายอดขายผ่านแอพมือถือเพิ่มขึ้นถึง 12%, ขายบัตรของขวัญ ExxonMobil ไป 7,000 ใบ, ขาย Hoverboardไปได้ 7,500 เครื่อง และของเล่นที่ขายดีที่สุดคือหุ่นยนต์ ทางด้าน PayPal ก็บอกว่าทราฟฟิกระหว่างช่วงเทศกาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนระบบถึงกับล่มไปพักหนึ่งเลยทีเดียว

ที่มา - TechCrunch

Amazon, E-commerce

ปิดท้ายมหกรรมเซลล์ออนไลน์ Lazada สามวันสุดท้ายยอดขายทะลุพันล้านบาท โตขึ้นสามเท่า

$
0
0

ใครที่ติดตามมหกรรมเซลล์ออนไลน์ของ Lazada ที่จัดมายาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Lazada ออกมาประกาศว่าแคมเปญนี้ได้ทำลายสถิติยอดขายของปีก่อนอย่างราบคาบ

จากมหกรรมเซลล์ที่จัดขึ้นใน 6 ประเทศที่ Lazada ให้บริการ (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย) ตัวเลขน่าสนใจที่ Lazada หยิบมาโชว์ในครั้งนี้คือยอดขายสามวันสุดท้ายที่ทำ Gross Merchandise Value (GMV) หรือยอดขายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Lazada ได้สูงถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1,450 ล้านบาท จากสินค้าที่ขายไปกว่า 1.7 ล้านชิ้น ซึ่งมากขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่าตัว

สถิติอื่นๆ คือในช่วงดังกล่าวมีการใช้งานบริการมากถึง 36 ล้านครั้ง และเป็นการสั่งสินค้าจากอุปกรณ์พกพาสัดส่วนถึง 60% ด้วยกัน

ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์

Lazada, E-commerce

aCommerce รับเงินทุนก้อนใหญ่จาก DKSH เตรียมขยายบริการไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

$
0
0

aCommerce สตาร์ทอัพแนวโลจิสติกส์สัญชาติไทยที่มีแผนจะขยายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งได้เงินทุนก้อนใหม่จากบริษัทด้านการจัดจำหน่ายสินค้าและเวชภัณฑ์สัญชาติสวิสฯ DKSH แลกกับหุ้นส่วนจำนวน 20% โดยไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุน

ก่อนหน้านี้ aCommerce เพิ่งได้ระดมทุนรอบแรกกว่า 10.7 ล้านเหรียญไปเมื่อกลางปี 2014 ก่อนจะเพิ่มทุนอีกครั้งเมื่อกลางปี 2015 อีก 5 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยการลงทุนด้านกลยุทธ์จาก DKSH ในครั้งนี้ที่ไม่เปิดเผยจำนวนเงิน คาดว่า aCommerce จะเลื่อนการระดมทุนรอบสองออกไปซักระยะ โดยประเมินว่าจะเป็นเม็ดเงินกว่า 30 ล้านเหรียญด้วยกัน

สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ aCommerce ระบุว่าจะลงทุนหลัก 10 ล้านเหรียญเพื่อขยายบริการเพิ่มเติมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่มีแผนจะขายบริษัทแต่อย่างใด โดยระบุว่าตอนนี้ aCommerce มีลูกค้ามากกว่า 150 ราย และเติบโตจากเดิมถึง 150% จากการรุกเข้าไปยังอินโดนีเซียได้สำเร็จในไตรมาสสุดท้ายของปี 2015

ที่มา - TechCrunch

aCommerce, E-commerce, Startup

Etsy เปิดตัว Etsy City Guide ชวนช้อปร้านงานดีตามหัวเมืองใหญ่

$
0
0

Etsy อีกหนึ่งแพลตฟอร์มขายสินค้าทำมือออนไลน์ (อ่าน เรื่องราวของเขา) ซึ่งล่าสุดเปิดตัว City Guideแนะนำหน้าร้านของสมาชิกที่ขายอยู่บน Etsy ตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยการ curate ร้านที่น่าสนใจขึ้นมาโชว์ในรูปแบบเว็บไซต์ ตอนนี้เริ่มแล้วที่ชิคาโก ออสติน แอลเอ และฟิลาเดลเฟีย จัดแยกประเภทร้านค้าด้วยหมวดหมู่ไอคอน พานนึกถึงแมกกาซีนฮิปสเตอร์พวก Monocle, Kinfolk, Frankie

เว็บไซต์ City Guide อันสวยงามแนวกริดกึ่งมินิมอลนี้ใช้ดีไซน์และแนวคิดจากเว็บไซต์ On The Gridซึ่งเป็น City Guide พาเที่ยวเมืองต่างๆ โดยดีไซเนอร์ประจำท้องถิ่นนั้นครับ คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไร แต่มีคนทำแล้ว อย่าง Coundsheck's Journey

ที่มา - The Next Web

upic.me

E-commerce, Etsy

ดาราก็มาสายสตาร์ตอัพ: ตามรอย Jessica Alba กับธุรกิจสินค้าครัวเรือนพรีเมี่ยม

$
0
0

คอหนังคงรู้จัก Jessica Albaดาราสาวจากฮอลลีวูด ซึ่งล่าสุดตอนนี้เธอมาทำสตาร์ตอัพสายขายผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ในชื่อ The Honest Co.ซึ่งตัวบริษัทมีมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว

จากบทสัมภาษณ์ใน Vanity Fairเธอเปิดเผยว่าโปรไฟล์ส่วนตัวซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงนั้น มีผลต่อตัวธุรกิจจริง เพราะเวลาไปขอทุนที่ไหน ผู้คนก็จะรู้จักและไว้วางใจมากกว่าคนไม่มีโปรไฟล์ และการที่เป็นนักแสดงหญิงที่คุ้นชินและยอมรับได้กับการถูกปฏิเสธจากการออดิชั่นจากรายการต่างๆ และแต่ละด่านก็หินมาก (ผู้เขียน: คงประมาณเดอะเฟซกระมัง) ทำให้การถูกปฏิเสธจากเหล่านักลงทุนในช่วงแรกจึงไม่มีปัญหาสำหรับเธอ

ที่มา - Vanity Fairผ่าน Business Insider

upic.me

ภาพจาก Forbes

upic.me

E-commerce, Tech Celebrity

ผงซักฟอกหมดทำไงดี Whirlpool เปิดตัวเครื่องซักผ้าที่สั่งซื้อผงซักฟอกได้จาก Amazon

$
0
0

ถ้ายังจำกันได้ Amazon มีปุ่ม Dash Button ปุ่มกดสำหรับสั่งซื้อสินค้าที่ใช้ประจำเช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำตาล กาแฟ ฯลฯ ที่เชื่อมต่อกับ บริการ Dash Replenishment Service ให้อุปกรณ์ในบ้านสั่งของได้เองจากปุ่มกดนี้

ไอเดียอาจฟังดูตลกๆ แต่ล่าสุด Whirlpool ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดัง เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ปี 2016 หลายอย่าง ทั้งเครื่องซักผ้าและอุปกรณ์ในครัวที่เชื่อมต่อกับ Dash Replenishment Service แล้ว ถ้าผงซักฟอกหมดก็สามารถกดสั่งได้ทันที

สินค้าของ Whirlpool จะไม่มีปุ่มแบบ Dash ฝังมากับตัวเครื่อง แต่จะเชื่อมต่อแอพมือถือ Whirlpoolผ่าน Wi-Fi แทน และผู้ใช้สามารถกดสั่งซื้อของมาเติมได้จากแอพนั่นเอง

ที่มา - Engadget

Whirlpool, Home Appliance, Amazon, E-commerce

บริการสั่งของอัตโนมัติ Amazon Dash Replenishment Service เริ่มให้บริการแล้ว

$
0
0

Amazon ประกาศเปิดตัว Dash Replenishment Service (DRS) ช่วงปลายปีที่แล้วโดยเป็นบริการพิเศษที่ Amazon จับมือกับผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นสั่งของที่มันต้องการได้เอง เช่นเครื่องพิมพ์สั่งหมึกเอง, เครื่องซักผ้าสั่งผงซักฟอกเอง ฯลฯ

ในช่วงแรกที่เปิดตัวยังมีอุปกรณ์ที่รองรับบริการนี้น้อยมาก แต่ล่าสุดมีเพิ่มมาอีกหลายเจ้า Amazon จึงถือโอกาสประกาศอีกครั้ง พร้อมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รองรับบริการนี้ก็กำลังออกวางตลาดและพร้อมให้บริการแล้ว อาทิ

  • เครื่องจ่ายสบู่เหลวยี่ห้อ GOJO และเครื่องจ่ายน้ำยาทำความสะอาดมือ Purell จะสั่งซื้อสบู่และน้ำยาทำความสะอาดได้เอง
  • เครื่องให้อาหารสัตว์เลี้ยงยี่ห้อ Petnet จะสั่งอาหารเข้ามาเอง
  • เครื่องวัดระดับกลูโคสในเลือดจาก Gmate จะสั่งแถบตรวจวัดน้ำตาลมาใหม่ได้เอง

Amazon ยังบอกอีกว่าไม่เกี่ยงผู้ผลิต ตั้งแต่มือสมัครเล่นไปจนถึงบริษัทใหญ่ก็รับหมด และพร้อมให้บริการ DRS ไปทำงานบนอุปกรณ์ใดๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ของ DRSเพื่อลงทะเบียน จากนั้นเพิ่มโค้ดเข้าไปในเฟิร์มแวร์ของอุปกรณ์ของตนเพียง 10 บรรทัดก็เริ่มใช้งานได้ทันที ใครอยากดูอุปกรณ์ที่รองรับบริการนี้ก็กดลิงค์ข้างต้นได้เช่นกัน

ที่มา - Amazon

Amazon, Amazon Dash, E-commerce

สัมภาษณ์ 'ทิวา ยอร์ก'ตอบคำถาม Kaidee คือใคร ลงประกาศขายของฟรีแล้วหาเงินอย่างไร

$
0
0

ผมเชื่อว่าสมาชิก Blognone คงคุ้นเคยกับชื่อ Dealfish, OLX, Kaidee ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศขายของมือสองรายใหญ่ของประเทศไทยที่เปลี่ยนชื่ออยู่บ่อยครั้ง เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะ Dealfish/OLX/Kaidee เน้นยิงโฆษณาแบบถี่ยิบในหลายช่องทาง (พอคนจำแบรนด์กันได้แล้วก็... เปลี่ยนแบรนด์อีกรอบ)

ถึงแม้หลายคนอาจไม่เคยประกาศขายของบนเว็บไซต์แห่งนี้เลย แต่ผมก็เชื่อว่าคงมีคนสงสัยว่าเว็บนี้คือใครกันแน่ ทำไมเปลี่ยนชื่อบ่อย และอยู่ได้อย่างไรเมื่อประกาศลงโฆษณาฟรีไม่คิดเงิน วันนี้เรามาคุยกับคุณทิวา ยอร์ก (Tiwa York) ซีอีโอของ "ขายดีดอทคอม" Kaidee (ชื่อปัจจุบัน) กันอย่างละเอียดครับ

Kaidee Office

สำหรับคนที่เคยดูโฆษณาอาจคุ้นหน้าคุณทิวา เพราะเขาคือคนที่มาเล่นเป็นพระเอกโฆษณาทุกรอบที่ปรับแบรนด์นั่นเองครับ

โฆษณาตอนเปลี่ยนจาก OLX --> Kaidee

โฆษณาของ Kaidee

Kaidee คือใคร ใครเป็นเจ้าของ

ก่อนอื่นเลย หลายคนที่เห็นโฆษณาของ Kaidee ทางทีวีแบบถี่ยิบ อาจสงสัยว่าตกลงแล้ว Kaidee คือใครกันแน่

Kaidee.com เวอร์ชันปัจจุบัน เกิดจากการรวมตัวของเว็บประกาศขายของ 2 รายในไทย นั่นคือ OLX.co.th (ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Dealfish และเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Sanook มาก่อน) กับ Kaidee.comในปี 2014 (ข่าวการควบรวม) โดยทีมงานหลักคือทีมงาน OLX เดิม แต่เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ Kaidee ที่สื่อถึงคนไทยได้ดีกว่าแทน ฟังแล้วเข้าใจทันทีว่ามาขายที่นี่แล้วดี

หลังการควบรวมแล้ว กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของ Kaidee ประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • Naspersกลุ่มทุนสื่อรายใหญ่จากแอฟริกาใต้ บริษัทแม่ของ MWEB ที่เคยมาซื้อ Sanook.com เมื่อนานมาแล้ว และเป็นเจ้าของเว็บไซต์ OLX ในหลายประเทศ ถือหุ้น 44.1%
  • 701Searchเกิดจากการร่วมทุนของ Schibsted กลุ่มทุนสื่อจากนอร์เวย์, Telenor บริษัทแม่ของ dtac, Singapore Press Holdings กลุ่มทุนสื่อของสิงคโปร์ เจ้าของ Kaidee เดิม ถือหุ้น 55.9%

การควบรวมธุรกิจของ Naspers กับ 701Search ค่อนข้างซับซ้อน เพราะดีลนี้ครอบคลุมเว็บไซต์ประกาศขายของในเอเชียหลายประเทศ และเว็บไซต์แบรนด์ OLX ก็ยังมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ สำหรับคนที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลจาก ข่าวเก่าและ ประกาศบนเว็บ Naspersจากนี้ไปเราจะสนใจเฉพาะ Kaidee.com ของประเทศไทยเท่านั้น

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมบริษัทนี้เปลี่ยนชื่อบ่อย เหตุผลหลักๆ คงเป็นเพราะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายครั้ง (จากเดิม Sanook แยกแบรนด์เป็น Dealfish จากนั้นไปอยู่ใต้สังกัด OLX ของ Naspers ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใช้ในหลายประเทศ ก่อนจะมาควบรวมกับ Kaidee) คุณทิวาบอกว่ามาถึงตอนนี้รู้ซึ้งเรื่องการรีแบรนด์บริษัทแล้ว เพราะน่าจะทำบ่อยกว่าใครๆ แต่ถ้าให้แนะนำก็อย่าทำบ่อยเป็นดี เพราะเหนื่อยมาก

kaidee3

Kaidee ทำอะไร

คุณทิวาอธิบายว่าภารกิจของ Kaidee คือเป็นตลาดขายของมือสอง เหตุผลในการดำรงอยู่ (why) ของบริษัทคือตลาดของมือสองช่วยให้ชีวิตของคนเราดีขึ้น ตามแนวคิด reduce/reuse/recycle

คุณทิวาบอกว่าคนไทยไม่มีธรรมเนียมการขายของเก่ามากนัก และทุกบ้านมักมี "ห้องเก็บของ"ที่มีของเก่าไม่ใช้แล้วเต็มไปหมด (แถมฝุ่นจับเขรอะด้วย) ถ้านำของพวกนี้มาเปลี่ยนมือ ก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปริมาณของเกะกะที่ไม่ใช้งาน แถมผู้ซื้อก็ได้สินค้าที่ต้องการในราคาถูกอีกด้วย

Kaidee ประกาศตัวเองชัดว่าเป็นเว็บประกาศขาย (classifie) เท่านั้น ไม่ใช่โมเดลอีคอมเมิร์ซแบบที่มีการจ่ายเงินผ่านหน้าเว็บ เหตุผลคือ Kaidee มองว่าการขายของมือสองจำเป็นต้องตรวจสภาพของกันอย่างละเอียด และแนะนำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายนัดเจอกันก่อนตกลงปลงใจซื้อขายเสมอ ทำให้ธุรกรรมบน Kaidee จะไม่วิ่งผ่านบริษัทเลย บริษัททำหน้าที่ช่วยจับคู่ระหว่างคนซื้อ-คนขายเท่านั้น

ปัจจุบัน Kaidee มีประกาศขายของเข้ามาใหม่วันละ 35,000 โพสต์ มีผู้ขายของ 200,000 รายต่อเดือน ถ้านับทราฟฟิก มีคนเข้ามาใช้งาน 6.5 แสนรายต่อวัน (นับ unique visitor) และ 38 ล้านเพจวิว ถ้านับสถิติของปี 2015 มีคนขายหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาถึง 1 ล้านราย

สินค้าขายดี 5 หมวดแรกได้แก่ รถยนต์ พระเครื่อง โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ และอสังหาริมทรัพย์ (อ่านถูกแล้วครับ พระเครื่องอยู่อันดับ 2 เลยแหละ)

kaidee1

Kaidee หาเงินอย่างไร โมเดลธุรกิจคืออะไร

ในเมื่อ Kaidee ลงประกาศได้ฟรี 100% สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือเอารายได้มาจากไหน คำตอบของคุณทิวาคือโมเดลธุรกิจแบบฟรีเมียม (freemium) นั่นเอง ที่ผ่านมา Kaidee เปิดให้ลงฟรีทั้งหมด และไม่สนใจเรื่องรายได้เลยเพื่อส่งเสริมให้คนรู้จักและกล้าใช้งาน แต่ช่วงปลายปี 2015 เป็นต้นมา Kaidee ก็เริ่มเพิ่มฟีเจอร์แบบเสียเงิน นั่นคือ "เลื่อนประกาศ"ให้อยู่สูงขึ้น เห็นเด่นชัดขึ้น ประกาศไม่ตกไปง่ายๆ เพิ่มโอกาสขายออกมากกว่าเดิม

ตอนแรก Kaidee มีระบบจ่ายเงินผ่าน SMSครั้งละ 9/30/50 บาท (ราคาขึ้นกับหมวดหมู่สินค้าด้วย) แต่ผู้ขายให้ความเห็นกลับมาว่า ถ้าต้องการเลื่อนประกาศหลายๆ อัน ต้องมาส่ง SMS ทุกรอบก็เหนื่อยเหมือนกัน บริษัทจึงพัฒนาระบบจ่ายเงินแบบที่สองชื่อ Kaidee Eggขึ้นมา รูปแบบจะคล้ายการซื้อคูปองมาใช้ภายหลัง วิธีนี้สะดวกกว่า SMS เพราะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตได้เลย และซื้อทีเดียวเป็นล็อตใหญ่ๆ ได้ด้วย

ตอนนี้ Kaidee ยังเน้นไปที่โมเดลจ่ายเงินเพื่อเลื่อนประกาศเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตก็จะหาบริการอื่นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อผู้ขายชาวไทยให้มากขึ้น

kaidee2

ภารกิจช่วยคนไทยขายของมือสอง

ในอดีตคู่แข่งของ Kaidee คือเว็บบอร์ดลงประกาศต่างๆ ที่ตอนนี้ไม่น่ากลัวนัก เพราะจุดเด่นของ Kaidee คือคนเข้าเยอะกว่ามาก ลงประกาศแล้วมีโอกาสขายได้เร็วกว่า แต่ช่วงหลังเริ่มมีคู่แข่งประเภท "ตลาดเฉพาะอย่าง" (vertical market) เข้ามาชิงฐานลูกค้ามากขึ้น ตัวอย่างคู่แข่งลักษณะนี้คือ Airbnb ที่เป็นเว็บเฉพาะสำหรับเช่าห้อง ส่งผลให้คนที่อาจเคยประกาศให้เช่าห้องใน Kaidee อาจย้ายไปโพสต์กับ Airbnb แทน

อย่างไรก็ตาม คุณทิวาบอกว่าสุดท้ายแล้ว ความท้าทายที่สุดของ Kaidee คือการแข่งกับเป้าหมายของตัวเอง เพราะบริษัทตั้งเป้าหมายต้องการให้คนไทย "ทุกคน"เคยมาประกาศขายของบน Kaidee กันให้หมด ดังนั้นถึงแม้ตอนนี้คนเข้าเว็บเยอะก็จริง แต่ยังห่างไกลกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มาก และต้องฝ่าฟันกันต่อไปอีกยาว

ความท้าทายของ Kaidee คือคนไทยยังไม่มีธรรมเนียมการขายของมือสอง ดังนั้น Kaidee จะทำทุกทางเพื่อขยายตลาดคนเหล่านี้ให้มาลองใช้งาน ซึ่งตรงนี้เป็นคำอธิบายว่าทำไม Dealfish/OLX/Kaidee ถึงทุ่มทุนโฆษณาทางทีวี คำตอบคือต้องการขยาย reach ไปยังคนที่ไม่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ตอนนี้ผู้ใช้งาน Kaidee กว่า 70% มาจากโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นทีมงานต้องทำทุกอย่างเพื่อให้แอพ Kaidee ใช้งานได้ง่ายที่สุด คุณทิวาเล่าว่า "แม่ยาย"ของตัวเองเพิ่งมาเล่นเน็ตบนมือถือได้ไม่นาน มีทั้ง Facebook/Instagram/LINE แต่กลับไม่มี "อีเมล"เมื่อทีมงานพบปัญหาข้อนี้จึงปรับปรุงแอพ Kaidee ให้สามารถสมัครด้วยเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกรอกอีเมลอีกต่อไป

สร้างวัฒนธรรมองค์กร เชื่อมั่นใน "คน"

ปัจจุบัน Kaidee มีพนักงานเกือบ 100 คน และเพิ่งเปิดสำนักงานใหม่ที่ตึก AIA Capital Center ที่ถนนรัชดาภิเษกเมื่อปีที่แล้ว (Blognone พาชมออฟฟิศ Kaidee) ตัวสำนักงานหรูหราอลังการตามสไตล์บริษัทไอทีรุ่นใหม่ มีข้าวเที่ยงเลี้ยงพนักงานทุกวัน

คุณทิวาบอกว่าวัฒนธรรมองค์กรของ Kaidee เชื่อมั่นใน "คน"และต้องการพนักงานระดับ world class มาร่วมทีม ยุคสมัยนี้การจ้างคนมีฝีมือเป็นเรื่องยากเพราะทุกบริษัทชิงตัวกัน ดังนั้น Kaidee จึงลงทุนกับการแต่งออฟฟิศและอาหารเพื่อดึงดูดคนเหล่านี้

สไตล์การทำงานของบริษัทเน้นความเปิดกว้างแบบ Silicon Valley เน้นการทำงานรวดเร็ว ล้มเหลวให้เร็ว (move fast, fail fast) ส่วนทีมวิศวกรไม่ได้แยกฝ่ายไอที-ผลิตภัณฑ์ออกจากกัน เพราะเชื่อมั่นว่าคนทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ ผู้ดูแลระบบ ฯลฯ ต้องทำงานร่วมกันภายใต้ทีมเดียวกัน กระบวนการพัฒนายึดหลัก continuous deployment ขึ้นโค้ดเวอร์ชันใหม่วันละ 10-20 ครั้ง

ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่า Kaidee ถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีไทยที่น่าสนใจอีกราย เพราะเป็นบริษัทที่ตั้งมาได้นานพอสมควร (4 ปี) มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทใหญ่ แต่ทีมงานเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด มีวัฒนธรรมการทำงานแบบเดียวกับบริษัทชื่อดังในต่างประเทศ และมีผลงานจับต้องได้ชัดเจน แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขั้นต่อไปบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเริ่มหาโมเดลรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทลักษณะนี้ Kaidee จะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนก็ต้องติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไปครับ

พาชมบรรยากาศ Kaidee

โซนโต๊ะทำงาน

Kaidee Office

โซนทานอาหาร

Kaidee Office

ห้องประชุม แต่งตามธีมสินค้ายอดนิยมแต่ละประเภท

Kaidee Office

โต๊ะปิงปอง โซนสันทนาการ

Kaidee Office

ผมไปตอนเที่ยง เจอพนักงานกำลังทานข้าวกัน เลยมีโอกาสแจมด้วยครับ อาหารอร่อยทีเดียว มีไอติมตบท้ายด้วย

Kaidee Office

Kaidee Office

Kaidee Office

E-commerce, Interview, Kaidee

ร้านขายของที่ระลึก Evernote Marketplace ปิดตัว เปลี่ยนไปขายผ่านร้านพาร์ทเนอร์แทน

$
0
0

Evernote เริ่มปฏิบัติการจัดระเบียบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำเงิน โดย Evernote Marketplaceบริการขายสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น สมุดโน้ต กระเป๋าสะพาย ที่เปิดตัวในปี 2013 ต้องปรับรูปแบบไปจากเดิม

ก่อนหน้านี้ Evernote ใช้วิธีจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่ผลิตสินค้านั้นๆ อยู่แล้ว ทำสินค้าแปะแบรนด์ Evernote เพื่อมาขายเองผ่าน Marketplace แต่หลังวันที่ 3 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป วิธีการขายจะเปลี่ยนเป็นให้พาร์ทเนอร์ขายผ่านช่องทางของตัวเองแทน ดังนั้น Evernote Marketplace จะทำหน้าที่โปรโมทไปยังร้านค้าของพาร์ทเนอร์เท่านั้น

Evernote ให้เหตุผลว่าท้ายที่สุดแล้วตัวเองเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ การจะไปขายสินค้าเองคงไม่ใช่โฟกัส แต่ก็เปิดเผยยอดขายว่าสมุดโน้ต Evernote Moleskineขายได้ 8 แสนเล่ม, ปากกา Adonit Jot Script ขายได้ 3 แสนด้าม, สแกนเนอร์ ScanSnap อีก 20,000 ตัว

ที่มา - Evernote

Evernote, E-commerce

สัมภาษณ์ Page365 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยใหญ่แค่ไหน? ยอดซื้อออนไลน์ปี 2015 โตขึ้น 18 เท่า

$
0
0

เมื่อปี 2013 Blognone เคยสัมภาษณ์ Page365 สตาร์ตอัพขวัญใจแม่ค้า Facebookมารอบหนึ่ง

เวลาผ่านมาเกือบ 3 ปี โลกการค้าขายออนไลน์เปลี่ยนไปมาก ปริมาณผู้ซื้อ-ผู้ขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เราจึงหาโอกาสมาอัพเดตข้อมูลกับทีมผู้ก่อตั้ง Page365 ทั้งสองราย ฬุศรัณย์ ศิลป์ศรีกุลและ ประธาน ธนานาถกันอีกรอบครับ (ควรย้อนอ่านบทสัมภาษณ์เดิม เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น)

ทีมงาน Page365

เวลาผ่านมา 3 ปี Page365 มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญคือตำแหน่ง (positioning) ของบริษัทในกระบวนการขายของออนไลน์เปลี่ยนไปจากเดิม ตอนแรกเราตั้งเป้าว่าตัวเองจะเป็น "เครื่องมือ" (tools) สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของผ่านโซเชียลให้ทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การขายของออนไลน์บ้านเราแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ การขายแบบมีหน้าร้าน ซึ่งมักเป็นเกมของแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง Tarad, Lazada, Weloveshopping กับการขายผ่านโซเชียลที่เป็นเรื่องของรายย่อย

คนที่เริ่มเข้ามาขายของออนไลน์มักเกิดจากความชอบ หรือความสนใจอยากลองทำธุรกิจ ปัจจุบันการเปิดร้านบน Facebook หรือ Instagram เป็นเรื่องง่ายมาก แทบไม่มีต้นทุนเลย และมีปัจจัยเรื่องโซเชียล การบอกต่อ ช่วยทำตลาดอีกทางหนึ่ง

ตอนเริ่มต้น ทุกคนจะมาแนวเดียวกันหมดคือแม่ค้าทำเองทุกอย่างเพื่อลดต้นทุน ถ้ามีฝีมือดีพอในการเลือกสินค้า-ทำการตลาด ยอดขายก็เติบโต แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง การทำงานแบบ manual ที่ต้องรับออเดอร์เองตลอดทั้งวัน แพ็กของ ส่งของ จะกลายเป็นคอขวดของแม่ค้า ถ้าอยากโตไปกว่านั้นก็ต้องหาคนมาช่วย เท่าที่เราเห็น แม่ค้าหลายรายทำงานกันหนักมาก ตอบข้อความเกือบตลอดทั้งวัน บางรายอาจหาคนผลัดกันมาตอบตลอด 24 ชั่วโมง

Page365 จะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้ เดิมทีเราเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น ครอบตัว Facebook ช่วยจัดการเรื่องการรับข้อความ ตอบข้อความ จัดการออเดอร์ แต่ตอนนี้เราพัฒนามาเป็น "omnichannel e-commerce platform"ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เราสามารถเข้าไปช่วยจัดการสต๊อกได้ จัดการลอจิสติกส์ การจ่ายเงิน ฯลฯ โดยเราเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมแม่ค้าเข้ากับผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรม

โมเดลธุรกิจของ Page365 คืออะไร

เราใช้โมเดลแบบ freemium คือร้านค้าใช้บริการพื้นฐานได้ฟรี แต่เมื่อร้านค้าเริ่มโต ต้องการบริการพรีเมียมอื่นๆ เช่น มีแอดมินมากกว่า 3 คน, ต้องการค่าธรรมเนียมจ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ถูกลง, ต้องการบริการหลังขาย ก็สามารถซื้อฟีเจอร์เพิ่มได้ พูดง่ายๆ ว่าเราจะเติบโตไปกับยอดขายของแม่ค้า แม่ค้าโตขึ้น เราเติบโตด้วย

ตอนนี้เรามีร้านค้าในระบบกว่า 70,000 ร้าน แต่ก็ต้องออกตัวว่ามีร้านพวกลองมาเปิดเล่นๆ ด้วย

สภาพการณ์ของตลาดขายของออนไลน์ในไทย เป็นอย่างไรบ้าง

ตลาดขายของออนไลน์บ้านเราเติบโตเร็วมาก ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณ Lazada ที่ทุ่มเงินทำตลาดอย่างหนักจนอีคอมเมิร์ซเกิด พอมีแรงจูงใจให้ซื้อครั้งแรกลดราคาหนักๆ คนที่หันมาซื้อของออนไลน์ครั้งแรกก็เยอะขึ้นด้วย พอได้ซื้อสักครั้ง ครั้งต่อไปก็ไม่ยากแล้ว

ถ้าเอายอดขายของร้านค้าไทยที่วิ่งผ่านระบบของ Page365 เราเห็นมูลค่าการซื้อขาย (Gross Merchandise Value หรือ GMV) เติบโต 18 เท่าในปี 2015

ส่วนรูปแบบการกระจายตัวของร้านค้าเป็น long tail คือมีร้านที่ขายดีสุดๆ ไปเลยจำนวนหนึ่ง ที่เหลือจะเป็นร้านค้ารายย่อยเจาะตลาด niche แตกต่างกันไป ตัวอย่างสินค้าที่น่าสนใจก็อย่าง "เสื้อกล้ามสำหรับทอม"ซึ่งสินค้าพวกนี้ไม่ใช่ตลาด mass แต่พอขายผ่านโซเชียล มันมีช่องทางทำตลาดเฉพาะกลุ่มได้ง่าย เราเห็นสินค้าลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย

สินค้ายอดนิยมยังเป็นเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง คนซื้อเป็นผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายมาก (79:21) แต่ตลาดใหม่ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นก็อย่างธุรกิจส่งอาหาร ขายข้าวกล่องออนไลน์ ตอบโจทย์คนที่ต้องการอาหารเฉพาะทาง พวกอาหารคลีน อาหาร gluten free เป็นต้น

ข้อจำกัดของเสื้อผ้าคือยอดสั่งต่อครั้งไม่เยอะ (เฉลี่ย 300-500 บาท) แต่อย่างที่บอกว่าตลาดเฉพาะทางมีเยอะ บางตลาดมียอดสั่งซื้อครั้งหนึ่งสูงมาก เช่น พวก gadget หรือเครื่องเสียง หูฟัง

ฝั่งของลูกค้ามีพฤติกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง

จุดที่น่าสนใจคือคนนิยมซื้อของกันวันทำงานนี่ล่ะ ช่วงเวลาพีคสุดคือ 11.00-14.00 น. ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ยอดจะตกลง ช่วงไหนหยุดยาวนี่เงียบเลย

อีกอย่างที่เราเห็นคือคนที่ซื้อผ่าน Instagram จะมียอดซื้อมูลค่าสูงกว่า Facebook ตัวสินค้าที่มาขายผ่าน Instagram จะดูอยู่ในตลาดบนกว่า สินค้ามักออกแนว photogenic คือถ่ายรูปสวย ดูดี เน้นภาพ เช่น ขนม เค้ก มาการอง พวกนี้ขายดีบน Instagram

เหตุผลที่พยายามวิเคราะห์คงเป็นว่า กลุ่มคนเล่น Instagram เป็นตลาดคนในเมืองหน่อย รายได้กระจุกตัวกว่า ในขณะที่ Facebook เป็นตลาด mass มาก คนใช้เยอะกว่าเยอะแต่คนใช้ก็มีทุกระดับ อย่างไรก็ตาม ตลาดรวมใหญ่ขึ้นมาก เทคโนโลยีมีส่วนช่วยเยอะ อย่างคนเงินเดือน 8 พัน ใช้มือถือ Android ตัวละ 3 พันก็สามารถซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือได้แล้ว

ประเด็นเรื่องธนาคารที่ใช้ก็น่าสนใจ จากข้อมูลที่เราลองรวบรวมดู พบว่ายี่ห้อธนาคารที่ใช้มีผลกับมูลค่าการสั่งซื้อต่อครั้ง (average basket size) จากภาพ แนวนอนคือจำนวนลูกค้าที่ใช้ แนวตั้งคือมูลค่าการซื้อ เราพบว่าธนาคารกสิกรไทย (KBank) นำมาอันดับหนึ่งทั้งสองแกน ส่วนธนาคารกรุงไทย (KTB) เป็นอันดับสองในแง่ฐานลูกค้า แต่ยอดการซื้อกลับน้อยกว่า ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวนคนใช้ไม่เยอะ แต่ยอดซื้อตามมาเป็นอันดับสอง

ยอดซื้อของออนไลน์เฉลี่ย แยกตามธนาคารที่ใช้งาน

เห็นว่ามีขยายธุรกิจไปเวียดนาม กับอินโดนีเซียด้วย

เราถือเป็นแพลตฟอร์มไม่กี่ตัวที่ต่อเชื่อมกับ Facebook ได้ (ตอนนี้เป็น Facebook Marketing Partner อย่างเป็นทางการด้วย) ทำไปทำมามีคนเวียดนามมาค้นพบ แล้วอยากใช้งานมาก เพราะสถานการณ์เรื่องอีคอมเมิร์ซในเวียดนามก็คล้ายๆ บ้านเรา เจอปัญหาแบบเดียวกัน เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาให้คนขายของออนไลน์ได้ คนก็มีเหตุจูงใจใช้งาน สิ่งที่เราพบคือมีคนเวียดนามพยายามใช้ Google Translate แปลภาษาให้ตัวเองอ่านรู้เรื่องด้วย เขียนบล็อกสอนการใช้งานเป็นภาษาเวียดนามเป็นเรื่องเป็นราวมาก

พอเราเจอเข้า ก็เลยคิดว่าน่าจะทำตลาดเวียดนามได้ จึงลองขยายตลาดดู ตอนนี้เรามีสต๊าฟเป็นทั้งคนเวียดนามและอินโดนีเซีย คอยซัพพอร์ตลูกค้าต่างชาติด้วย อนาคตก็ตั้งใจขยายไปยังมาเลเซียและฟิลิปปินส์ต่อ

แต่การขยายไปต่างประเทศก็ไม่ง่าย พฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้ามีความแตกต่างกันในรายละเอียด อย่างบ้านเรา คนนิยมจ่ายเงินด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร แต่ในเวียดนามกลับนิยม cash on delivery (COD) คือจ่ายเงินเมื่อรับสินค้า ปัญหาคือระบบของเราออกแบบมาสำหรับเมืองไทยที่จ่ายเงินก่อน ได้ของทีหลัง พอไปใช้กับเวียดนามก็ต้องปรับแก้กันเยอะพอสมควร

อย่างในอินโดนีเซีย เราพบปัญหาว่าประเทศเป็นเกาะ การคำนวณค่าส่งสินค้าข้ามพื้นที่มีรายละเอียดมาก และระบบของเราต้องคำนวณค่าส่งได้ตามจริงให้ได้ก่อนลูกค้ากดซื้อ

ประเด็นเรื่องโซเชียลของต่างประเทศ ในเวียดนาม Facebook ครองตลาด แต่เรื่องแอพแชทก็นิยมหลายตัว ทั้ง Facebook Messenger, LINE และ Zaloแอพแชทของเวียดนามเอง ส่วนในอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ BBM ครองเมือง แต่ช่วงหลังคนก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้ LINE กันมากขึ้น

Zalo แอพแชทเวียดนามที่คนในบ้านเราอาจยังไม่รู้จัก

อุปสรรคของการขายของออนไลน์

ส่วนของ Page365 เป็นร้านค้าโซเชียล การซื้อของผ่านโซเชียลเป็น impulse buying คือตัดสินใจซื้อทันที ปุบปับ ค่อนข้างเน้นอารมณ์ความรู้สึก ประมาณว่าเห็นเสื้อตัวนี้สวยแล้วซื้อเลย แตกต่างจากการซื้อผ่านเว็บ ที่สามารถเทียบราคาได้จากเว็บไซต์มากมาย (ที่ทุกคนทำ SEO เหมือนกัน)

ดังนั้นหัวใจสำคัญของการขายของผ่านโซเชียลคือต้องลดอุปสรรค (friction) ที่ทอนภาวะ impulse buying ลง เช่น อยากซื้อของ แต่ต้องเดินไปโอนเงินที่ตู้ ATM ระหว่างทางอาจเปลี่ยนใจไม่ซื้อแล้วก็ได้

การจ่ายเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของอีคอมเมิร์ซไทย ตอนนี้คนนิยมโอนเงินกัน เพราะมันคุ้นเคย เหมือนโอนเงินให้เพื่อน คนฝั่งเอเชียต้องสนทนากับคนขายก่อน มีความเป็นโซเชียลมากกว่า ต่างจากระบบตะวันตกที่เดินเข้าห้างเพื่อซื้อของ คนไทยต้องแชทกับแม่ค้าก่อน เพราะกลัวโดนหลอก ต้องพูดคุย สร้างความคุ้นเคยก่อน ต้องอ่านคอมเมนต์ในเพจดูก่อนว่าคนอื่นๆ ว่ายังไงบ้าง

แต่การโอนเงินผ่านธนาคารก็มีข้อเสียเยอะ เรื่องการหลอกโอนเงินแล้วปิดร้านหนีก็มีให้เห็นเรื่อยๆ คิดว่าในระยะยาว อีคอมเมิร์ซไทยจะต้องลดการโอนเงินลง หันมาจ่ายผ่านบัตรเครดิตแทน ตอนนี้คนหันมาใช้บัตรเครดิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะซื้อของราคาแพง เนื่องจากจ่ายบัตรแล้วได้แต้ม

อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือเปลี่ยนมาใช้บริการ mobile payment ซึ่งกรณีของ LINE Pay ก็น่าจับตาว่าจะสามารถเจาะตลาดนี้สำเร็จหรือไม่

อนาคตของตลาดคอมเมิร์ซไทย

เท่าที่เห็นข้อมูล ผู้ขายส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ตามหัวเมือง กรุงเทพเยอะสุด โคราชรองลงมา จุดที่น่าสนใจคือคนต่างจังหวัดมีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าบางอย่างที่มีขายเฉพาะในกรุงเทพ คนต่างจังหวัดก็ต้องการเหมือนกัน เมื่อฝั่งอุปทานตอบโจทย์ไม่ได้ การขายของออนไลน์ก็มาเติมเต็มตรงนี้

ตัวอย่างที่เราคิดว่าเจ๋งคือตอนป๊อปคอร์น Garrett มาขายในไทย คนอยากกินเยอะมากแต่หาซื้อไม่ได้ สุดท้ายก็เกิดร้านค้าที่ทำป๊อปคอร์นสูตรคล้ายๆ กันขายทางออนไลน์แทน ยอดขายดีมาก ตอนนี้พัฒนาตัวเองเป็นร้านขึ้นห้างไปเรียบร้อยแล้ว

หรืออย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ไม่ค่อยกล้าไปเปิดกัน ส่งผลให้ยอดขายอีคอมเมิร์ซเติบโตแทน ต้องยอมรับว่าเครือข่ายลอจิสติกส์ของไปรษณีย์ไทยดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างน้อยไปรษณีย์ไทยก็ส่งได้ทั่วไทยจริงๆ ถ้าไปดูไปรษณีย์เวียดนามเปรียบเทียบ การส่งของไปบางพื้นที่ต้องใช้บริการลอจิสติกส์เอกชนเท่านั้น ซึ่งก็แยกตามแต่ละพื้นที่อีก ซับซ้อนมาก

ประเด็นเรื่องลอจิสติกส์กำลังเป็นเทร็นด์ที่น่าสนใจ เราเริ่มเห็นหลายเจ้ามีบริการแบบ door-to-door ไปรับของถึงบ้านแม่ค้าเลย หรือพวกที่สั่งชิปปิ้งส่งของจากจีนมาที่โกดัง แล้วกระจายต่อไปยังลูกค้าได้เลย ฝั่งของการผลิตก็พัฒนาขึ้น เดิมทีแม่ค้าอาจสั่งของมาขายอย่างเดียว แต่ก็เห็นการผลิตเองมากขึ้น เช่น สั่งเครื่องทำเคสมือถือมาพิมพ์ลายเอง

ปัญหาสำคัญของบ้านเรายังเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ (trust) ของร้านค้า ถ้ามีใครแก้โจทย์ข้อนี้ได้ คิดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะไปโลดอีกมาก

E-commerce, Interview, Page365, Startup

Rakuten ปิดเว็บไซต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เตรียมขาย Tarad.com

$
0
0

Rakuten ยักษ์ใหญ่วงการอีคอมเมิร์ซญี่ปุ่น (ที่ภายหลังขยายตัวไปทำธุรกิจอื่นมากมาย) ประกาศผลประกอบการประจำปี 2015 ภาพรวมออกมาดี รายได้เติบโต 19.2% แต่บริษัทก็ตัดตัวเลขด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment loss) ของธุรกิจบางตัว ได้แก่ เว็บอีคอมเมิร์ซฝรั่งเศส PriceMinister, บริการอีบุ๊ก Kobo และธุรกิจอื่นๆ รวมมูลค่า 38.1 พันล้านเยน

ในโอกาสเดียวกัน Rakuten ยังประกาศวิสัยทัศน์ Vision 2020 ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจเพื่อการเติบโตในอนาคต ฝั่งของธุรกิจคอมเมิร์ซจะเน้นตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและไต้หวัน แต่อีคอมเมิร์ซในประเทศอื่นๆ จะต้องปรับโมเดลไปอีกพอสมควร

ธุรกิจคอมเมิร์ซในสหรัฐจะโฟกัสไปที่ Ebates เว็บรวมคูปองส่วนลดที่ Rakuten ซื้อมาในปี 2014 ส่วนธุรกิจในบราซิลจะปรับไปใช้โมเดล Software as a Service (SaaS) จุดที่น่าสนใจคือตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Rakuten จะปิดเว็บคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย วันที่ 1 มีนาคมนี้ (และปลดพนักงานอีก 150 คน) ส่วนประเทศไทยที่มี Tarad.com กำลังอยู่ในกระบวนการขายออกไป

ผลประกอบการ Rakuten ปี 2015 แยกตามธุรกิจ

ธุรกิจที่ด้อยค่าสินทรัพย์ทางบัญชี

วิสัยทัศน์ 2020 โฟกัสไปที่ญี่ปุ่นและไต้หวัน

การปรับแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซนอกญี่ปุ่น

โมเดลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะปิดเว็บไซต์ที่เป็นตลาด (marketplace) เปลี่ยนมาใช้แอพแบบ C2C (ผู้ใช้ซื้อขายของกันเอง) ชื่อ Rakuma ไม่รู้ว่าจะเจาะตลาดบ้านเราเข้าหรือเปล่า คู่แข่งในภูมิภาคนี้คือ Carousell และ Shopee ซึ่งรายหลังเข้ามาในบ้านเราแล้ว

ความเห็นของคุณภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com

ลูกค้าชาวตลาด.คอม ไม่ต้องห่วงกับข่าวนะครับ ทำตัวตามปกติ ทุกอย่างปกติครับ แต่จะดีขึ้นกว่าเดิมมหากาฬครับ รอหน่อยนะครับผม พวกคุณคือคนที่สำคัญของผมครับ ใจร่มๆ เชื่อผม.! หึๆ :)

Posted by Pawoot Pom Pongvitayapanu on Friday, February 12, 2016

ที่มา - Rakuten, Rakuten, TechCrunch

E-commerce, Rakuten, TARAD

Google Express ให้บริการส่งอาหารสดถึงหน้าบ้านแล้ว

$
0
0

Google Express บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และส่งถึงบ้านภายใน 1 วัน เริ่มเปิดให้ลูกค้าสั่งสินค้าและอาหารสดซึ่งทาง Google Express จะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ไปรับสินค้าจากร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นพาร์ทเนอร์ แล้วนำไปส่งให้ลูกค้า โดยจะเริ่มให้บริการในบางพื้นที่ ในลอสแองเจลิสและรัฐแคลิฟอร์เนียก่อน

อย่างไรก็ตามมีรายงานจากผู้ใช้ว่า บริการส่งอาหารสดของ Google Express ล่าช้าจาก 2 ชั่วโมงไปเป็น 4 ชั่วโมง รวมถึงค่าบริการเริ่มต้นเพิ่มขึ้นจาก 15 เหรียญเป็น 35 เหรียญ ไม่รวม 3 เหรียญที่ต้องจ่ายเพิ่มต่อสินค้า 1 ชิ้นที่สั่งสำหรับคนที่เป็นสมาชิก Google Express ด้วย

ที่มา - Engadget

bag_porch_800x533

E-commerce, Google
Viewing all 125 articles
Browse latest View live